กึ่งพุทธกาลแล้ว..............

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

~ว่าด้วยเรื่อง แก้ว 7 ประการ ของพระมหาจักรพรรดิ์ ~

ผู้ที่จะเป็นพระมหาจักรพรรดิได้นั้นจักต้องมีบุญญาธิการ บำเพ็ญพระบารมีมามากแล้ว (อย่างน้อยต้องเต็ม ๑๐ ทัศ ) และเมื่อได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเภท คือ 

๑. มหาปนาทจักรพรรดิ และ 
๒. มหาสังขจักรพรรดิ 

ในกาลนั้นจะมีแก้ว ๗ ประการ ปรากฏขึ้นเป็นของคู่พระบารมี ดังนี้ มหาปนาทจักรพรรดิ นั้น เป็นเนรมิตนาม ของพระจักรพรรดิราชาธิราช ทุกพระองค์ที่ทรงมี สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ กับมี คทาใหญ่ อันเป็นนิมิตสมบัติจักรพรรดิชุดบก หรือชุดแผ่นดิน เช่นเดียวกัน มหาสังขจักรพรรดิ ก็ทรงมี สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ กับมี สังข์ใหญ่ หรือมหาสังข์ อันเป็นนิรมิตสมบัติจักรพรรดิชุดน้ำ หรือชุดทะเล สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการนั้น คือ 


๑) จักรรัตนะ จักรแก้ว 



๑. จักรรัตนะ หรือ จักรแก้ว จมอยู่ในท้องมหาสมุทรลึกได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ดุมเป็นแก้วอินทนิล ประกอบไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ มีพันซี่ หัวกำอันฝังเข้าไปในดุมเป็นเงิน และทองอันงาม มีรัศมีดุจพระอาทิตย์ ครั้นพระมหาจักรพรรดิปรากฏขึ้น จักรแก้วนี้ก็จะทะยานขึ้นจากท้องมหาสมุทร ร่อนลงที่ประตูเมือง แล้วกระทำทักษิณาวัตรรอบเมือง จากนั้น จะเข้าไปสู่พระราชมณเฑียรของมหาจักรพรรดิ กระทำทักษิณาวัตรรอบมณเฑียร แล้วเข้ามานบนอบที่เบื้องบาทแห่งองค์ พระมหาจักรพรรดิ ซึ่งจักรแก้วนี้มีฤทธิ์สามารถปราบได้หมดทุกทวีป ไม่อาจที่จะหามนุษย์ผู้ใดต่อต้านได้ เมื่อพระมหาจักรพรรดิยกทัพ จักรแก้วสามารถทำให้ ทั้งกองทัพเดินทางกลางเวหาเหมือนเหล่าทัพของเทพยดา

๒) หัตถีรัตนะ ช้างแก้ว



๒. หัตถีรัตนะ หรือ ช้างแก้ว ครั้นพระมหาจักรพรรดิปราบได้ทุกทวีปแล้ว จะทำการสร้างโรงช้างประดับด้วยเงิน และทอง และแก้ว ๗ ประการ จากนั้นจึงปูลาดด้วยผ้าหลายชั้น เอาข้าวตอกดอกไม้โปรยทั่วโรงช้าง แล้วพระมหาจักรพรรดิ จะทำทานรักษาศีล ๗ วัน แล้วคำนึงถึงช้างแก้ว ช้างแก้วตระกูลฉัตรทันต์ หรือตระกูลอุโบสถ ก็จะเหาะมาลงที่โรงช้าง ช้างแก้วนี้จะเป็นช้างเผือก มีงวงแดงงามดั่งดอกบัวแดง สามารถเดินทางทางเวหาด้วยความรวดเร็ว มีพละกำลังมหาศาล

๓) อัสสรัตนะ ม้าแก้ว


๓. อัสสรัตนะ หรือ ม้าแก้ว พระมหาจักรพรรดิ จะทำการสร้างโรงม้าประดับด้วยเงิน และทอง และแก้ว ๗ ประการ จากนั้น จึงปูลาดด้วยผ้าหลายชั้น เอาข้าวตอกดอกไม้โปรยทั่วโรงม้า แล้วพระมหาจักรพรรดิจะทำทานรักษาศีล ๗ วัน แล้วคำนึงถึงม้าแก้ว ม้าแก้วอันงามดังสีเมฆหมอกขาว และมีลายเขียวดังสายฟ้าแลบ มีกีบเท้าทั้งสี่ และหน้าผากแดงดังน้ำครั่ง กำยำล่ำสัน ขนหัวนั้นดำเลื่อมงามดังดำกา เรืองงามดังแก้วอินทนิล ก็จะเหาะมาลงที่โรงม้า ม้าแก้วสามารถเดินทางทางเวหาเช่นกัน


๔) มณีรัตนะ มณีแก้ว แก้วทับทิม



๔. มณีรัตนะ หรือ แก้วมณี พระมหาจักรพรรดิจะต้องทำทานรักษาศีล ๘ แล้วคำนึงถึงแก้วรัตนะ มณีรัตนะ อันอยู่ที่วิบูลบรรพต ก็จะลอยมาหา มณีรัตนะนี้สามารถทำให้เวลากลางคืนสว่างดุจกลางวัน


๕) อิตถีรัตนะ นางแก้ว





๕. อิตถีรัตนะ หรือ นางแก้ว พระมหาจักรพรรดิจะต้องทำทานรักษาศีล ๘ แล้วคำนึงถึงนางแก้ว นางแก้วก็จะเหาะมาหา นางแก้วนี้มีฉวีวรรณเกลี้ยงเกลาสดใส ธุลีมิอาจเกาะติดกายนางสรีระ มีลักษณะอัน อุดมถ้วนทุกแห่ง มีรัศมีแผ่ออกรอบกายนาง ๑๐ ศอก มีพระพักตร์งดงาม เนื้อหนังอ่อนนุ่ม มีกลิ่นกายหอม ดั่งแก่นจันทน์กฤษณา กลิ่นปากหอมดังดอกบัวนิลุบล เมื่อร่างกายพระมหาจักรพรรดิหนาว ตัวนางแก้วจะอุ่น เมื่อร่างกายจักรพรรดิร้อนตัวนางแก้วจะเย็น และนางแก้ว จะมีรสสัมผัสอันเป็นทิพย์


๖) คหบดีรัตนะ ขุนคลังแก้ว 




๖. คหบดีรัตนะ หรือ ขุนคลังแก้ว พระมหาจักรพรรดิจะต้องทำทานรักษาศีล ๘ แล้วคำนึงถึงขุนคลังแก้ว มหาเศรษฐีผู้ประเสริฐ ก็จะเหาะมาหาพระองค์ ขุนคลังแก้วนี้ จะสามารถทำให้ มหาจักรพรรดิพอพระทัย ทุกประการ มีคุณวิเศษคือ มีตาทิพย์ หูทิพย์ และสามารถนำทรัพย์สมบัติมาได้แม้จะอยู่ที่ใดก็ตาม




๗) ปรินายกรัตนะ ขุนพลแก้ว





๗. ปริณายกรัตนะ หรือ ขุนพลแก้ว พระมหาจักรพรรดิจะมีโอรสพันกว่าองค์ ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า แต่ลูกคนโตจะ ประเสริฐกว่าน้องทั้งหลาย ได้เป็นลูกแก้ว



ถ้าสังเกตุ ภาพจิตรกรรมที่บานประตูและหน้าต่าง พระวิหาร 
บ่งบอกถึงสมบัติของพระมหาจักรพรรดิ์



การที่มีสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ประการนั้น  สันนิษฐานว่า  ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า  การที่พระเจ้าจักรพรรดิจะได้สมบัติทั้ง ๗ ประการนี้  ก็ด้วยการประพฤติธรรมคือจักกวัตติวัตร  มีการปกครองประเทศโดยธรรม เป็นต้น  แม้คนทั่วไปก็เช่นกัน  ถ้าจะให้สมบัติเกิดขึ้นแก่ตนก็ต้องประพฤติธรรม   ไม่ว่าจะเป็นมนุษยสมบัติ  สวรรค์สมบัติ  และนิพพานสมบัติ  บุคคลจะได้รับก็ด้วยการประพฤติธรรมทั้งสิ้น



วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

~ พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสาเหตุของแผ่นดินไหวไว้ 8 ประการ ~





๑. แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ เมื่อลมพายุพัดแรงจัดย่อมทำให้เกิดน้ำไหว เมื่อน้ำไหวแล้วย่อมทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา

๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล ข้อนี้เป็นเพราะอำนาจของผู้มีฤทธิ์ เช่น พระอริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือผู้เจริญสมถะกรรมฐาน เช่น กำลังเจริญปฐวีกสิณ มีการเพ่งแผ่นดินเป็นอารมณ์ หรือเจริญอาโปกสิณ คือการเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ เมื่อถึงที่สุดแห่งฌานก็เกิดฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ให้น้ำกระเพื่อมหวั่นไหว ด้วยอำนาจของฌานสมาบัติ

๓. พระโพธิสัตว์ลงมาจุติ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งบุญ นับถอยหลังจากภัทรกัปนี้ไป 4 อสงไขย และอีก 1 แสนกัปพระโพธิ์สัตว์บังเกิดเป็นสุเมธดาบส ได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ได้ทำความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ จึงได้บำเพ็ญมหาบริจาคทาน 5 อย่าง และบำเพ็ญบารมี 30 จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพระเวสสันดร หลังจากสวรรคตได้ไปบังเกิดในสรรค์ชั้นดุสิต หลังจากนั้นบรรลุถึงกาลแก่กล้าแห่งพระโพธิญาณแล้ว เทวดาได้กราบทูลอาราธนาเพื่อมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายาผู้เป็นพระมารดา ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังลงมาจุตินั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์เป็นเหตุให้รู้ว่าผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ คือผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นได้มาเกิดในโลกมนุษย์แล้ว แผ่นดินใหญ่ย่อมหวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ด้วยอำนาจพุทธบารมี

๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งบุญญาธิการ เมื่อพระมารดาทรงครรภ์ครบทสมาสแล้ว ในวันประสูติ พระมารดาปรารถนาจะไปเยี่ยมกรุงเทวทหะ จึงออกเดินทางพร้อมด้วยบริวาร ถึงลุมพินีวันอันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง ขณะนั้น ได้บังเกิดลมกัมมชวาตประชวรพระครรภ์ นางกำนัลจึงได้ช่วยกันผูกม่านใต้ต้นสาละ พระนางได้ประสูติพระโอรส หลังจากประสูติ พระโพธิ์สัตว์ได้ตรัสเปล่งอาสภิวาจา (คำพูดที่กล้าหาญ องอาจ) ว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา บัดนี้ ภพใหม่ของเราย่อมไม่มี” ขณะนั้นเอง ทั้งหมื่นโลกธาตุก็กัมปนาทหวั่นไหว เกิดโอกาสแสงสว่างไปทั่วโลกทั้งปวง ข้อนี้เป็นด้วยอำนาจพุทธบารมี

๕. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งญาณ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่เห็นทางตรัสรู้ จึงทรงฉันพระกระยาหารตามปกติ และทรงดำเนินทางสายกลาง จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะอรุณขึ้นทอแสงในเวลาเช้าอันเป็นวันวิสาขปุณณมี ดับอาสวกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน พร้อมกับเกิดความอัศจรรย์ ทั้งหมื่นโลกธาตุก็กัมปนาทบันลือลั่นหวั่นไหวให้สาธุการ เป็นเหตุให้รู้ว่า ได้มีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

๖. พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้เป็นเพราะอำนาจการให้สาธุการ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พึงแสดงธรรมโปรด ทรงนึกถึงอาจารย์ คือ อาฬารดาบส ก็เสียชิวิตไปล่วงได้ 7 วัน ส่วนอาจารย์อุทกดาบสก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวาน ทรงนึกถึงอุปการะของเหล่าปัญจวัคคีย์ จึงได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา อันมีใจความสำคัญคือ อริยมรรค 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ และอริยสัจ 4 คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญ หลังจากแสดงปฐมเทศนาจบลง ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ หมื่นโลกธาตุก็บันลือลั่นหวั่นไหว เหล่าเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงอกนิฐกพรหมก็ให้สาธุการโดยทั่วกัน

๗. พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ข้อนี้เกิดขึ้นเพราะความกรุณาของพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ตรัสแก่มารว่า “หลังจากนี้ 3 เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน” หลังจากพระพุทธเจ้ารงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ น่าสะพึงกลัว โลมชาติชูชัน กลองทิพย์ในสวรรค์ก็บันลือลั่น

๘.พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ข้อนี้เกิดขึ้นเพราะการร้องให้ของแผ่นดิน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสปัจฉิโมวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ของตนเองสมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด” พอตรัสจบลง พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินใหญ่ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งหมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ด้วยเสียงกัมปนาทของพื้นปฐพี


จึงขอฝากข้อคิดจากเรื่องแผ่นดินไหวนี้ว่า ถึงแม้โลกทั้งโลกจะหวั่นไหว แต่ขอให้มนุษย์เรา มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวไปตามวัฏจักรสังคม คือ มีได้-มีเสีย มียศ-หมดอำนาจ มีสรรเสริญ-มีนินทา มีสุข-มีทุกข์ เมื่อใด วัฏจักรเหล่านี้เกิดขึ้น ควรฝึกวางใจของตนให้เป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของกิเลสตัณหาที่ชักนำให้ลุ่มหลง ดังคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภูเขาหิน ย่อมไม่หวั่นเพราะลม ฉันใด ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่ไหวในนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

~ บุคคลที่เกิดมาไม่เป็นประโยชน์แก่โลก ~



บุคคลผู้เกิดมาไม่เป็นประโยชน์แก่โลก: 
      
       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร ? คือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัจธรรม แล้วให้ตั้งอยู่ในอสัจธรรม" อัง. ๒๐/๑๙๑-๑๙๒/๓๕

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

นะ โม พุท ธา ยะ




        1. องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ เพราะตามนามแม่เลี้ยงที่เป็นไก่
         2. องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคมโน เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นนาค
         3. องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสโป เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า
         4. องค์ที่ ๔ มีพระนามว่า พระโคตโม เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
         5. องค์ที่ ๕ มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย เพราะตามนามแม่เลี้ยงที่
          เป็นราชสีห์

ในกัปป์นี้ได้ชื่อว่าภัทรกัปเป็นกัปที่เจริญที่สุดเพราะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ถึง๕ พระองค์  มีพระนามตามที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้ง ๕ พระองค์ จึงเป็นที่มาของคำว่า

                                                      “ นโมพุทธายะ”

----------------------------- มาตามสัญญา ----------------------------

~ ความสว่างใสบริสุทธิ์ ศีลธรรม จะกลับมา ~

~ เปิดดวงตา กัน ~