กึ่งพุทธกาลแล้ว..............

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

~ พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสาเหตุของแผ่นดินไหวไว้ 8 ประการ ~





๑. แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ เมื่อลมพายุพัดแรงจัดย่อมทำให้เกิดน้ำไหว เมื่อน้ำไหวแล้วย่อมทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา

๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล ข้อนี้เป็นเพราะอำนาจของผู้มีฤทธิ์ เช่น พระอริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือผู้เจริญสมถะกรรมฐาน เช่น กำลังเจริญปฐวีกสิณ มีการเพ่งแผ่นดินเป็นอารมณ์ หรือเจริญอาโปกสิณ คือการเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ เมื่อถึงที่สุดแห่งฌานก็เกิดฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ให้น้ำกระเพื่อมหวั่นไหว ด้วยอำนาจของฌานสมาบัติ

๓. พระโพธิสัตว์ลงมาจุติ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งบุญ นับถอยหลังจากภัทรกัปนี้ไป 4 อสงไขย และอีก 1 แสนกัปพระโพธิ์สัตว์บังเกิดเป็นสุเมธดาบส ได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ได้ทำความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ จึงได้บำเพ็ญมหาบริจาคทาน 5 อย่าง และบำเพ็ญบารมี 30 จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพระเวสสันดร หลังจากสวรรคตได้ไปบังเกิดในสรรค์ชั้นดุสิต หลังจากนั้นบรรลุถึงกาลแก่กล้าแห่งพระโพธิญาณแล้ว เทวดาได้กราบทูลอาราธนาเพื่อมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายาผู้เป็นพระมารดา ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังลงมาจุตินั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์เป็นเหตุให้รู้ว่าผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ คือผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นได้มาเกิดในโลกมนุษย์แล้ว แผ่นดินใหญ่ย่อมหวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ด้วยอำนาจพุทธบารมี

๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งบุญญาธิการ เมื่อพระมารดาทรงครรภ์ครบทสมาสแล้ว ในวันประสูติ พระมารดาปรารถนาจะไปเยี่ยมกรุงเทวทหะ จึงออกเดินทางพร้อมด้วยบริวาร ถึงลุมพินีวันอันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง ขณะนั้น ได้บังเกิดลมกัมมชวาตประชวรพระครรภ์ นางกำนัลจึงได้ช่วยกันผูกม่านใต้ต้นสาละ พระนางได้ประสูติพระโอรส หลังจากประสูติ พระโพธิ์สัตว์ได้ตรัสเปล่งอาสภิวาจา (คำพูดที่กล้าหาญ องอาจ) ว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา บัดนี้ ภพใหม่ของเราย่อมไม่มี” ขณะนั้นเอง ทั้งหมื่นโลกธาตุก็กัมปนาทหวั่นไหว เกิดโอกาสแสงสว่างไปทั่วโลกทั้งปวง ข้อนี้เป็นด้วยอำนาจพุทธบารมี

๕. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ข้อนี้เป็นเพราะเดชแห่งญาณ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่เห็นทางตรัสรู้ จึงทรงฉันพระกระยาหารตามปกติ และทรงดำเนินทางสายกลาง จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะอรุณขึ้นทอแสงในเวลาเช้าอันเป็นวันวิสาขปุณณมี ดับอาสวกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน พร้อมกับเกิดความอัศจรรย์ ทั้งหมื่นโลกธาตุก็กัมปนาทบันลือลั่นหวั่นไหวให้สาธุการ เป็นเหตุให้รู้ว่า ได้มีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

๖. พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้เป็นเพราะอำนาจการให้สาธุการ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พึงแสดงธรรมโปรด ทรงนึกถึงอาจารย์ คือ อาฬารดาบส ก็เสียชิวิตไปล่วงได้ 7 วัน ส่วนอาจารย์อุทกดาบสก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวาน ทรงนึกถึงอุปการะของเหล่าปัญจวัคคีย์ จึงได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา อันมีใจความสำคัญคือ อริยมรรค 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ และอริยสัจ 4 คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญ หลังจากแสดงปฐมเทศนาจบลง ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ หมื่นโลกธาตุก็บันลือลั่นหวั่นไหว เหล่าเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงอกนิฐกพรหมก็ให้สาธุการโดยทั่วกัน

๗. พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ข้อนี้เกิดขึ้นเพราะความกรุณาของพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ตรัสแก่มารว่า “หลังจากนี้ 3 เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน” หลังจากพระพุทธเจ้ารงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ น่าสะพึงกลัว โลมชาติชูชัน กลองทิพย์ในสวรรค์ก็บันลือลั่น

๘.พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ข้อนี้เกิดขึ้นเพราะการร้องให้ของแผ่นดิน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสปัจฉิโมวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ของตนเองสมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด” พอตรัสจบลง พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินใหญ่ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งหมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ด้วยเสียงกัมปนาทของพื้นปฐพี


จึงขอฝากข้อคิดจากเรื่องแผ่นดินไหวนี้ว่า ถึงแม้โลกทั้งโลกจะหวั่นไหว แต่ขอให้มนุษย์เรา มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวไปตามวัฏจักรสังคม คือ มีได้-มีเสีย มียศ-หมดอำนาจ มีสรรเสริญ-มีนินทา มีสุข-มีทุกข์ เมื่อใด วัฏจักรเหล่านี้เกิดขึ้น ควรฝึกวางใจของตนให้เป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของกิเลสตัณหาที่ชักนำให้ลุ่มหลง ดังคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภูเขาหิน ย่อมไม่หวั่นเพราะลม ฉันใด ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่ไหวในนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 เมษายน 2555 เวลา 21:05

    ขอบคุณมากค่ะที่นำบทความที่เป็นประโยชน์และมีสาระดี ๆมาให้อ่านขออนุญาตแชร์ให้เพื่อน ๆดูด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

    ตอบลบ

----------------------------- มาตามสัญญา ----------------------------

~ ความสว่างใสบริสุทธิ์ ศีลธรรม จะกลับมา ~

~ เปิดดวงตา กัน ~